ReadyPlanet.com


มติ ครม. 8 มีนาคม 48 เรื่องผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจากโคร


ผลการประชุมคณะรัฐมนตรี

 

วันที่ 8 มีนาคม 2548

เรื่อง สรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจากโครงการจัดสรรแล้วไม่ได้บ้าน
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สรุปผลการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจากโครงการจัดสรรแล้วไม่ได้บ้าน ซึ่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้มีมติดังนี้ (1) กรณีที่ผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจากโครงการจัดสรรแล้วไม่ได้บ้านและประสงค์ที่จะได้บ้านเพื่ออยู่อาศัยได้มาลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ระหว่างวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2547 จำนวน 68 ราย โดยมีผู้ที่ไม่ที่อยู่อาศัยและต้องการที่อยู่อาศัย จำนวน 34 ราย และมีที่อยู่อาศัย (เช่าอยู่) แต่ต้องการที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง จำนวน 34 ราย ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคส่งเรื่องให้การเคหะแห่งชาติ และธนาคารอาคารสงเคราะห์รับไปดำเนินการ (2) กรณีผู้ร้องเรียนจำนวน 123 ราย ที่ยังไม่มีมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค และกรณีผู้ประกอบธุรกิจ จำนวน 358 ราย ที่มีมติคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดำเนินคดีแทน นั้น ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายสุธรรม แสงประทุม) เป็นประธานและอนุกรรมการประกอบด้วย อธิบดีกรมที่ดิน, เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, ผู้แทนกรมพัฒนาธุรกิจการค้า, ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย, ผู้แทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย, ผู้แทนกรมที่ดินเป็นอนุกรรมการและเลขานุการ , ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอนุกรรมการและเลขานุการร่วม โดยให้มีอำนาจหน้าที่วิเคราะห์ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว เพื่อหามาตรการป้องกันมิให้เกิดปัญหาดังกล่าวซ้ำอีก และพิจารณาแยกประเภทผู้ประกอบธุรกิจที่ดีแต่สถาบันการเงินงดให้สินเชื่อ เพื่อให้การสนับสนุนการเงินและผุ้ประกอบธุรกิจที่มีพฤติกรรมไปในทางทำธุรกิจที่ไม่สุจริต เพื่อให้ขึ้นบัญชีดำไว้ และให้รายงานผลให้รัฐบาลทราบ ก่อนวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีหนังสือ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2547 ส่งข้อมูลของผู้บริโภคที่ได้มาลงทะเบียน กรณีปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจากโครงการจัดสรรแล้วไม่ได้บ้านและประสงค์ที่จะได้บ้านเพื่ออยู่อาศัย จำนวน 68 ราย ให้การเคหะแห่งชาติและธนาคารอาคารสงเคราะห์ ตามมติที่ประชุมดังกล่าวและจัดทำคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจากโครงการจัดสรรแล้วไม่ได้บ้าน ที่ 1/2547 เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันปัญหาเกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้บริโภคที่ซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรองนายก-รัฐมนตรี (นายพินิจ จารุสมบัติ) ลงนามในคำสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 โดยมีผู้แทนกรมที่ดินและผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นเลขานุการร่วม ……………………………………………………………………………………………………………

เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับประเด็นอภิปรายของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 7 (ฝ่ายกฎหมายฯ) ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานไปประกอบการพิจารณาว่าการจัดตั้งองค์การอิสระผู้บริโภค บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 57 ไม่ได้มุ่งหมายให้มีการจัดตั้งองค์การอิสระเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพราะใช้คำว่า "องค์การอิสระ" ไม่ได้ใช้คำว่า "องค์กรอิสระ" รวมทั้งเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย ข้อบังคับ และการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้กำหนดให้มีอำนาจในการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนั้น รูปแบบขององค์การอิสระจึงอาจมีหลายรูปแบบได้ เช่น คณะกรรมการสมาคม กลุ่มองค์กรเอกชน โดยผู้ที่ทำหน้าที่องค์การอิสระจะต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และเป็นกลางทางการเมืองเพื่อให้องค์การนั้น ๆ มีอิสระในการแสดงความคิดเห็นและเสนอความเห็นโดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การจัดตั้งองค์การอิสระจึงสามารถแก้ไขเพิ่มเติมในพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ควรกำหนดให้มีหมวดว่าด้วยองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นโดยไม่มีอำนาจหน้าที่ ตัดสินชี้ขาดโดยไม่ต้องตรากฎหมายฉบับใหม่ ประกอบกับการคุ้มครองผู้บริโภคมีกำหนดไว้ในกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ อาจจะไม่เห็นชอบด้วยกับความคิดเห็นขององค์การอิสระ จึงควรมีการกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่ให้มีความเชื่อมโยงกับอำนาจหน้าที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายด้วย สำหรับหน่วยงานที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการขององค์การอิสระเห็นควรให้สำนักงานคณะกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำหน้าที่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดให้องค์การอิสระมีหน่วยงานธุรการเพื่อทำหน้าที่ โดยเฉพาะ นอกจากนั้น องค์การอิสระที่จะตั้งขึ้นควรกำหนดมีหน้าที่ในการศึกษาข้อมูล อันเป็นองค์ความรู้เพื่อให้รู้ทันผู้ผลิต ตลอดจนเป็นคลังสมองติดตามสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเกื้อหนุนในการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นด้วย ก็เกิดประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณาต่อไป และ เห็นควรให้สำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งกำลังพิจารณาปรับปรุงระบบราชการทั้งระบบใหม่ให้รับเรื่องนี้ไปพิจารณาว่าจะสมควรให้ สคบ. มีสถานะใด อยู่ในสังกัดใด และควรกำหนดสถานะของ สคบ. ไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค หรือกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม แล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาประกอบการตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ต่อไป ……………………………………………………………………………………………………………



ผู้ตั้งกระทู้ เล่าสู่กันฟัง :: วันที่ลงประกาศ 0000-00-00 00:00:00 IP :


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (72548)
ขอบคุณครับ
ผู้แสดงความคิดเห็น coco วันที่ตอบ 2005-03-15 02:12:00 IP :



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล *
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล



ร่วมกันทำให้ วัชรพล เป็นชุมชนที่น่าอยู่
ซอย วัชรพล ชุมชนที่น่าอยู่